วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โกงกางใบใหญ่


โกงกางใบใหญ่
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhizophora mucronata Poir.
ชื่อพื้นเมือง: โกงกางใบใหญ่
ชื่อท้องถิ่น: โกงกางนอก
วงศ์ RHIZOPHORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 15 - 20 เมตร ราก ระบบรากแก้ว โคนต้นมี รากค้ำจุนหรือรากหายใจ ออกมาเหนือโคนต้น ยาว 2 - 7 เมตร เพื่อช่วยพยุงลำต้น รากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุน ลำต้น แตกแขนงระเกะระกะ รากแตกจากโคนต้นและค่อยๆโค้งจรดดินไม่หักเป็นมุมฉากดังเช่นรากค้ำจุนของโกงกางใบเล็ก ลำต้น ตั้งตรง ไม้เนื้อแข็ง เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆเปลือกหยาบ แตกเป็นร่องตื้นๆตามยาวและตามขวาง เป็นตารางทั่วไป เปลือกสีเทาคล้ำถึงดำ ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง อวบใหญ่ ขนาด 5 - 13 X 8 - 24 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม มีติ่งแหลมเล็กและแข็ง โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีเขียว เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด แผ่นใบหนา มีจุดเล็กๆสีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว 2.5 - 6 เซนติเมตร สีเขียว หูใบสีเขียวอมเหลือง สีของหลังใบจะมีสีเขียวอ่อน ท้องใบเป็นสีเหลือง ลักษณะเด่นมาก เมื่อมองระยะไกล ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกช่อ ช่อดอกเกิดในกลุ่มเรือนใบ หรือ ออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่ หรือ ร่วงไปในเวลาต่อมา ก้านช่อดอกยาวกว่าก้านใบ ความยาว 3 - 7 เซนติเมตร แตกแขนงสั้นๆ มีดอกตั้งแต่ 2 - 12 ดอก ก้านดอกยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก โคนใบประดับติดกัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม ขนาด 5 - 7 X 1.2 - 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่ายรูปใบหอก ยาว 0.6 - 1 เซนติเมตร สีขาว หรือ เหลืองอ่อน ขอบกลีบมีขนหนาแน่น มีเกสรเพศผู้ 8 อัน ผล คล้ายรูปไข่ ยาวแคบลงทางส่วนปลายผล เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 3 - 8 เซนติเมตร งอกเป็นฝักตั้งแต่อยู่บนต้น ผิวฝักหยาบ สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียว ค่อนข้างตรง ยาว 30 - 80 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 - 1.9 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไป

ลักษณะเด่น รากโค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมฉาก หลังใบสีเขียวอ่อน ท้องใบสีเหลือง ปลายใบเป็นติ่งแหลมเล็กและแข็งมาก ผิวเปลือกหยาบ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป เป็นกลุ่มเดียวล้วนๆ ชอบขึ้นในดินเลนค่อนข้างลึก บริเวณชายฝั่งแม่น้ำ หรือ ชายคลองด้านนอกที่มีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอเป็นเวลานาน หรือ ติดกับทะเลที่มีลักษณะดินเป็นสีดำและมีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า ออกดอกเดือนกันยายน - ตุลาคม ฝักแก่เดือนมีนาคม - สิงหาคม

ประโยชน์
ใบชงน้ำดื่มแก้ไข้ ใบอ่อนบดหรือเคี้ยวให้ละเอียด พอกแผลสด ห้ามเลือดและป้องกันเชื้อโรค เปลือกลำต้นต้มกับน้ำดื่ม ห้ามโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดเรื้อรัง บำบัดเบาหวาน แก้แผลฟกช้ำ บวม น้ำเหลืองเสีย หรือตำพอกห้ามเลือด และบาดแผลสด หรือเผาใส่แผลสด รากอ่อน กินเป็นยาบำรุงกำลัง ผลอ่อน เคี้ยวพ่นใส่แผล แก้พิษปลาดุกทะเล ปลากระเบนทะเล
เปลือกลำต้นไม้โกงกางเป็นแหล่งผลิตแทนนินที่สำคัญ ใช้ในการฟอกหนัง ฟอกย้อมและเพิ่มความแข็งแรงของเชือกและแห อวนในการทำประมง ใช้ในการผลิตกาวในอุตสาหกรรมแผ่นชิ้นไม้อัด
ลำต้นใช้เผาทำถ่านเป็นไม้เชื้อเพลิงคุณภาพดี ใช้ทำกับดักปลา ก่อสร้าง

หมายเหตุ โกงกางใบใหญ่ รากหายใจไม่หักเป็นมุมฉาก มีใบขนาดใหญ่ ก้านใบสีเขียวอมเหลือง ออกดอกตั้งแต่ 2 – 12 ดอก ช่อดอกยาว หูใบสีเขียวอมเหลือง ผลคล้ายรูปไข่ปลายขอด ซึ่งแตกต่างจากโกงกางใบเล็ก รากหายใจ 1 – 2 ราก ที่หักเป็นมุมฉากลงดิน ใบเล็กกว่า หูใบ ก้านใบมีสีแดงเรื่อๆ ออกดอกเป็นคู่ ก้านดอกสั้น ผลรูปแพร์กลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น