วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โปรงแดง


โปรงแดง
ชื่อพฤกษศาสตร์: Ceriops tagal (Perr.) C.B.Rob.
ชื่อพื้นเมือง: โปรงแดง
ชื่อท้องถิ่น : ปุโรงแดง
วงศ์ RHIZOPHORACEA

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก - กลาง สูง 7 - 15 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นค้ำจุนขนาดเล็ก และรากหายใจรูปคล้ายเข่า (ภาพที่ 4 C) อ้วนกลมยาว 12 - 20 เซนติเมตร เหนือผิวดิน สีน้ำตาลอมชมพู ลำต้น ต้นตั้งตรง เนื้อแข็งโคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย เรือนยอดเป็นกลุ่มกลม สีเข้ม กิ่งสีเขียว มีช่องอากาศเล็กๆ เปลือกสีชมพูเรื่อๆ หรือ น้ำตาลอ่อน เรียบถึงแตกเป็นสะเก็ด ต้นแก่มีรอยแผลเป็นช่องอากาศเห็นชัดเจนสีน้ำตาลอ่อน ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทาง เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง แผ่นใบชี้ไปที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแกมขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ขนาด 3 - 8 X 5 - 12 เซนติเมตร ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบ ป้านมน หรือ เว้าตื้นๆ ขอบใบมักเป็นคลื่น ก้านใบยาว 1.5 - 4 เซนติเมตร หูใบยาว 1 - 3 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีซีด ดอก สมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ แต่ละช่อมี 4 - 8 ดอก ก้านช่อดอกเรียวยาว 1 - 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยสั้น วงกลีบเลี้ยงยาว 0.5 - 0.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงหยักลึก 5 กลีบ รูปไข่ยาว 0.4 - 0.5 เซนติเมตร แผ่บานออก ปลายโค้งเข้าหาผล ใบประดับเชื่อมติดกันที่โคนหลอดกลีบเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน สีขาว ผล รูปแพร์กลับ ยาว 1 - 3 เซนติเมตร สีเขียวถึงสีน้ำตาลแกมเขียว เป็นผลแบบงอกตั้งแต่ติดอยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ “ฝัก” รูปทรงกระบอกขนาด 0.5 X 15 - 35 เซนติเมตร ปลายเล็กขยายใหญ่ไปทางส่วนโคน แล้วสอบแหลม มีสันแหลมตามยาว ผิวขรุขระ สีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ห้อยลงในแนวดิ่ง
ลักษณะเด่น ฝักเป็นเหลี่ยมสันนูน

นิเวศวิทยา ขึ้นอยู่ด้านในของป่าชายเลน ตามริมชายฝั่งแม่น้ำ ที่น้ำท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ และดินมีการระบายน้ำดี หรือ ขึ้นในป่าโปรงแดงล้วน ที่ดินเลนมีสภาพเป็นกรด ค่อนข้างเป็นที่ดอน ออกดอก - ผลเกือบตลอดปี

ประโยชน์ เปลือกตำให้ละเอียดฟอกแผล ห้ามเลือด ต้มกับน้ำชะล้างบาดแผล แก้ท้องร่วง
ลำต้นใช้ทำฟืน เผาถ่าน ทำที่อยู่อาศัย เครื่องมือประมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น