วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เป้งทะเล


เป้งทะเล
ชื่อพฤกษศาสตร์: Phoenix paludosa Roxb.
ชื่อพื้นเมือง: เป้งทะเล
ชื่อท้องถิ่น: เป้ง
วงศ์ ARECACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นพวกปาล์ม ขนาดกลาง ลำต้นเกิดเป็นกอ สูง 4 - 10 เมตร ราก มีลักษณะเป็นหนามงอกจากบริเวณโคนต้น ตอนงอกใหม่เป็นรากปกติ หลังจากนั้นเปลือกค่อยๆแข็ง มีลักษณะคล้ายหนาม ช่วยป้องกันโคนต้นได้ ลำต้น มีรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 - 9 เซนติเมตร ขึ้นเป็นกอมีใบหนาแน่นเป็นกลุ่ม ส่วนบนของลำต้นมีก้านใบซึ่งมีหนามติดอยู่ และมีกาบซึ่งเป็นเส้นใยสีเทาหุ้ม ใบ ใบประกอบแบบขนนก ใบมากค่อนข้างสั้น ขนาดประมาณ 0.45 X 1.5 เมตร ใบโค้ง โคนใบมีเส้นใยเป็นกาบหุ้มลำต้น ใบย่อยเล็กแคบยาว ขอบพับเข้าค่อนข้างแข็ง และตรง ปลายใบห้อยลง ตามก้านใบด้านล่างมีหนามเรียวยาว แหลมและแข็ง สีเขียวเป็นมันหรือสีเขียวอมเหลือง ท้องใบสีเทาคล้ายควัน ดอก เป็นดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกตั้งตรง ออกที่ง่ามใบ มีกาบขนาดใหญ่ 1 อัน หุ้ม แต่กาบนี้จะหลุดไปเมื่อดอกได้รับการผสม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลุ่มของช่อดอกย่อย ซึ่งเป็นช่อเชิงลด เรียวตรงจำนวนมาก เรียงทำมุมแคบกับแกนหลักไปทางปลายช่อ ผล เป็นผลสด อ่อนนุ่ม รูปไข่ ขนาด 0.8 - 1 X 1 - 1.5 เซนติเมตร มีเมล็ดเดียว ผลแก่สีส้ม มีผนังชั้นในบางคล้ายกระดาษ

ลักษณะเด่น อยู่รวมเป็นกอ ก้านใบมีหนามเรียวแหลม ท้องใบสีเทา ใบย่อยขอบใบพับเข้า แข็งตรง ผลแก่ สีส้ม

นิเวศวิทยา ขึ้นตามป่าชายเลนค่อนข้างสูง ภายใต้อิทธิพลของน้ำกร่อย

ประโยชน์ หัวต้มน้ำดื่มแก้เสียดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ต้นอ่อนหรือยอดนำมาต้ม หรือ คั่วผสมน้ำดื่มแก้ลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น