วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลำพู


ลำพู
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sonneratia caseolaris (L.) Engler
ชื่อพื้นเมือง: ลำพู
ชื่อท้องถิ่น: ลำพู
วงศ์ SONNERATIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย ไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 8 - 20 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายกรวยคว่ำ ยาว 70 เซนติเมตร หรือยาวกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนราก 4 - 5 เซนติเมตร เรียวแหลมไปทางปลายราก ลำต้น ต้นตรงมีเนื้อไม้ ไม่ผลัดใบ กิ่งห้อยย้อยลง ต้นที่อายุน้อยเปลือกเรียบ แต่เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะหยาบ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ด ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน ขนาด 2 - 5 X 4 - 13 เซนติเมตร ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมทู่ หรือ เรียวแหลมสั้น หรือ มนเป็นติ่งสั้น เส้นใบไม่เด่นชัด ก้านใบค่อนข้างแบน ยาว 0.2 - 0.4 เซนติเมตร สีแดงเรื่อๆ ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกเดี่ยว ที่ปลายกิ่ง วงกลีบเลี้ยงเป็นหลอดตื้นๆรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกลึก 8 แฉก รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม แฉกยาวกว่าหลอด โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู กลีบดอกรูปแถบ หรือ ขอบขนานแคบ ขนาด 0.1 - 0.2 X 1.5 - 2.5 เซนติเมตร สีแดงเข้ม อยู่ระหว่างกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร โคนก้านสีแดงปลายสีขาวชมพู ร่วงง่ายภายในวันเดียว เกสรเพศเมีย รังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 4 ห้องติดกัน ก้านเกสรยาว มีเม็ดไข่มาก ผล เป็นผลมีเนื้อและมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อผล ผลรูปกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง 4.5 - 7 X 2.5 - 3.5 เซนติเมตร สีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผลแบน ไม่มีสันแผ่แฉกกว้าง บานออกไม่หุ้มฐานของผล

ลักษณะเด่น ฐานกลีบดอกด้านในเป็นวงสีแดงเลือดนก มีจุดประขาวอยู่ในวงสีแดง โคนใบ หรือบริเวณกิ่งและก้านตรง ยอดอ่อนเป็นสีชมพู

นิเวศวิทยา ขึ้นในเขตป่าชายเลนที่น้ำกร่อยจนถึงน้ำค่อนข้างจืด หรือ มีช่วงระยะเวลาที่ระดับความเค็มของน้ำน้อยกว่า 10 % เป็นเวลานาน มักขึ้นเป็นกลุ่มตามริมชายฝั่งแม่น้ำที่เป็นดินเลนเหนียวและลึก ออกดอกเดือนสิงหาคม - ธันวาคม และออกผลเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์

ประโยชน์ ผลสุกมีกลิ่นหอมและนิ่มรับประทานได้ รากหายใจ นำไปทำจุกไม้ก๊อกปิดขวด ทำเป็นทุ่นลอยในการประมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น