วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

2 ความเค็มของน้ำในดิน

ความเค็มของน้ำในดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกางใบใหญ่ และไม้แสม ไม้ลำพูทะเลและไม้ลำแพนชอบน้ำที่มีความเค็มค่อนข้างสูง และมักพบขึ้นอยู่บริเวณติดกับทะเล ส่วนไม้ลำพูจะขึ้นบริเวณที่มีความเค็มน้อยกว่าประมาณ 10% ส่วนไม้พังกาหัวสุมดอกแดง จะทนต่อความเค็มที่อยู่ในช่วง 10 - 20 % ไม้โปรงแดงจะขึ้นและเจริญเติบโตได้ในบริเวณ ที่มีความเค็มมากกว่า 30 %

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน

ปัจจัยทางกายภาพและเคมีภาพของดิน ปกติป่าชายเลนที่พบบริเวณปากแม่น้ำ และริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนนั้น จะมีลักษณะเป็นดินโคลน แต่ชายหาดบางแห่งที่เป็นดินแห้งจะไม่มีป่าชายเลนขึ้นอยู่ และพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ต้องมีรากค้ำจุนที่แข็งแรง ได้แก่ พันธุ์ไม้ที่เรียกว่า ไม้เบิกนำ (pioneer species) ทั้งหลาย จากการศึกษาในหลายพื้นที่และหลายประเทศ ได้พบข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับสภาพของดิน เช่น พบว่าโกงกางใบใหญ่ชอบดินเป็นโคลนนิ่มๆ โกงกางใบเล็กจะชอบดินที่ไม่นิ่มเกินไป ส่วนไม้แสม ไม้พังกาหัวสุมดอกแดง ขึ้นปนกันในบริเวณดินทราย และบางครั้งจะพบไม้แสมขึ้นในบริเวณที่เป็นดินโคลนหรือบริเวณที่เป็นชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ สามารถทนต่อสภาพดินทรายได้ ถ้าบริเวณนั้นมีน้ำทะเลท่วมถึง นอกจากนั้นยังพบว่าไม้แสมจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะทางด้านความสูง เมื่อบริเวณนั้นมีการระบายน้ำที่ดี และพบไม้แสมขึ้นในป่าของไม้ถั่วขาว ซึ่งไม้ถั่วขาวนั้นจะขึ้นในบริเวณดินเหนียวที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีชั้นของฮิวมัส และมีการระบายน้ำที่ดี pH ของดินบริเวณ ใต้ต้นโกงกาง มีค่าเท่ากับ 6.6 และดินใต้ต้นแสม มีค่าเท่ากับ 6.2 เมื่อดินทั้งสองบริเวณมีสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ แต่ถ้าเป็นดินแห้ง และอยู่ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ดินในเขตไม้โกงกางจะมี pH ลดเหลือ 4.6 ในขณะที่ดินของเขตไม้แสมจะมี pH อยู่ประมาณ 5.7

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การปรับตัวของพันธูพืชในป่าชายเลน

พันธุ์พืชทุกชนิดในป่าชายเลนจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของส่วนต่างๆ ทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล ตลอดจนระบบรากให้เหมาะสม เพื่อทนทานต่อสภาพแวดล้อมป่าชายเลนให้สามารถอยู่รอด เจริญเติบโต และแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ
1 เซลล์ผิวใบมีหนังหนา เป็นแผ่นมัน และมีปากใบ (stoma) อยู่ทางผิวใบด้านล่าง ลักษณะเช่นนี้พบในพืชทุกชนิดในป่าชายเลน ซึ่งมีหน้าที่สำหรับป้องกันการระเหยของน้ำจากส่วนของใบ
2 มีต่อมขับเกลือ (salt glands) พบอยู่ทั่วไปในส่วนของใบ เช่นใบแสม ลำพู ลำแพน และเหงือกปลาหมอ เป็นต้น ทำหน้าที่ควบคุมระดับความเข้มข้นของเกลือในพืชโดยขับเกลือส่วนเกินออกจากส่วนของใบ
3 ใบมีลักษณะอวบน้ำ (succulent leaves) โดยเฉพาะพืชพวกโกงกาง (Rhizophora) ลำพู และลำแพน (Sonneratia) ซึ่งเป็นลักษณะที่ช่วยเก็บรักษาน้ำจืด
4 มีรากหายใจ (pneumatophores) พบในพืชเกือบทุกชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรากหายใจลักษณะต่างกันไป เช่น แสม มีรากหายใจโผล่จากดิน ส่วนโกงกาง รากหายใจแทงออกจากต้นลงดิน เพื่อช่วยค้ำยันลำต้นอีกด้วย (ภาพที่ 1)

A.








B.



C.



D.



ภาพที่ 1 ระบบรากหายใจของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนบางประเภท
A. สกุลไม้โกงกาง (Rhizophora type) B. สกุลไม้แสม (Avicennia type)
C. สกุลไม้ประสัก (Bruguiera type) D. สกุลไม้ตะบูน (Xylocarpus type)


5 มีผลงอกขณะติดอยู่บนลำต้น ที่เรียกว่า vivipary ตัวอย่างเช่น ในโกงกาง 1 ดอก มีรังไข่ (ovary) 1 อัน และมีโอวุล (ovule) 4 อัน แต่มีเพียงโอวุลเดียวที่เจริญเป็นเมล็ด ซึ่งเมล็ดของพืชนี้ไม่มีการพักตัว แต่จะเจริญทันทีขณะผลยังติดบนต้นแม่ จัดเป็น viviparous seed เพราะส่วนของต้นอ่อน (embryo) ในเมล็ดจะงอกส่วนของรากอ่อน (radicle) แทงทะลุออกมาทางปลายผลตามด้วยส่วนของ hypocotyl ซึ่งจะยืนยาวออกกลายเป็นฝักยาว 1 - 2 ฟุต เมื่อฝักแก่เต็มที่จะหล่นปักเลนโคนต้น หรือลอยไปตามกระแสน้ำ ต่อมาจะงอกรากและเจริญเป็นต้นใหม่ต่อไป นอกจากโกงกางแล้ว ยังมีไม้ถั่ว พังกาหัวสุม โปรง ต้นจาก เล็บมือนาง และแสม คือ พบผลหรือฝักหลุดจากต้นแม่แล้ว ทำให้สามารถเจริญเติบโตทาง ด้านความสูงอย่างรวดเร็ว สามารถชูขึ้นเหนือน้ำได้ในระยะสั้น
6 ต้นอ่อนหรือผลแก่ลอยน้ำได้ ทำให้สามารถแพร่กระจายพันธุ์โดยทางน้ำได้ดี พบในพืชเกือบทุกชนิดในป่าชายเลน
7 มีระดับสารแทนนิน (tannin) ในเนื้อเยื่อสูง ซึ่งการปรับตัวนี้อาจจะเกิดขึ้นเพื่อการป้องกันอันตรายจากพวกเชื้อราต่างๆ
8 สามารถทนทานได้ ในสภาวะที่ระดับความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในใบสูง

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พันธ์ไม้ชายเลน

พันธุ์ไม้ป่าชายเลน
ป่าชายเลนประกอบด้วยพืชหลายชนิดซึ่งรวมถึงไม้ต้น (tree) พืชอิงอาศัย (epiphyte) เถาวัลย์ (climber)และสาหร่าย พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบ มีลักษณะทางสรีรวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน โดยพืชที่ขึ้นอยู่ในป่าชายเลน เป็นพวกที่มีความทนต่อสภาพความเค็มได้ดี (สนิท อักษรแก้ว, 2532) พันธุ์ไม้ป่าชายเลนพบกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของโลก มีประมาณ 17 – 25 สกุล 68 ชนิด โดยนับรวมทั้งไม้ต้นและ ไม้พุ่ม (Chapman, 1975) สำหรับในประเทศไทย Santisuk (1983) ศึกษาพบว่ามีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนอยู่ จำนวน 35 วงศ์ 53 สกุล 74 ชนิด โดยพบว่าพันธุ์ไม้เด่นและเป็นชนิดที่สำคัญในป่าชายเลนของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ RHIZOOPHORACEAE โดยเฉพาะสกุลไม้โกงกาง (Rhizophora) สกุลไม้โปรง (Ceriops) และสกุลไม้ประสัก (พังกาหัวสุม) (Bruguiera) พันธุ์ไม้ในวงศ์ SONNERATIACEAE ได้แก่ ไม้ในสกุลไม้ลำพู และลำแพน (Sonneratia) และพันธุ์ไม้ในวงศ์ AVICENNIACEAE ประกอบด้วยสกุลไม้แสม (Avicennia) นอกจากนี้ได้แก่ พันธุ์ไม้ในวงศ์ MELIACEAE ได้แก่ไม้สกุลตะบูนและตะบัน (Xylocarpus) (สนิท อักษรแก้ว, 2532) ไม้ในวงศ์ COMBRETACEAE ได้แก่สกุลไม้ฝาด (Lumnitzera) และพันธุ์ไม้บางชนิดในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่น ไม้ตาตุ่มทะเล (Excoecaria agallocha) ซึ่งยางเป็นพิษ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ พันธุ์พืชทุกชนิดในป่าชายเลนจะต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของส่วนต่างๆ ทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล ตลอดจนระบบรากให้เหมาะสม เพื่อทนทานต่อสภาพแวดล้อมป่าชายเลนให้สามารถอยู่รอด เจริญเติบโต และแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง