วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลำแพน


ลำแพน
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sonneratia ovata Backer
ชื่อพื้นเมือง: ลำแพน
ชื่อท้องถิ่น: ลำแพนทะเล
วงศ์ SONNERATIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย ไม้ต้นขนาดเล็ก - ขนาดกลาง สูง 4 - 12 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายหมุด ยาว 15 - 30 เซนติเมตร เหนือผิวดิน ลำต้น ตั้งตรง มีเนื้อไม้ กิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามแผ่นใบรูปไข่กว้าง หรือ รูปเกือบกลม ขนาด 3 - 8 X 4 - 9 เซนติเมตร โคนใบไม่สอบแคบมักกลม ฐานใบกลม สีเขียวเข้ม ปลายใบกลมกว้าง ก้านใบยาว 0.3 - 1.5 เซนติเมตร ต้นที่มีอายุมาก ใบมักจะบิดเบี้ยวไม่สมมาตร ดอก สมบูรณ์เพศ ออกเดี่ยวๆ หรือ เป็นช่อกระจุก ช่อละ 3 ดอก ก้านดอกย่อยยาว1 - 2 เซนติเมตร บางครั้งไม่มีก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 2 - 3 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันเด่นชัด กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวกว่าหลอดเล็กน้อย สีเขียวและสีชมพูเรื่อๆที่โคนกลีบด้านใน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีขาว เกสรเพศเมีย ก้านเกสรยาว มีรังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 4 ห้องติดกัน มีเม็ดไข่มาก ผล เป็นผลมีเนื้อและมีหลายเมล็ด ผลกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ขนาด 3 - 4.5 X 2.5 - 3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผล เป็นรูปถ้วย หรือ รูปลูกข่าง มีสัน กลีบเลี้ยงงอหุ้มติดผล ท่อกลีบเลี้ยงยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร แฉกชี้ขึ้น
ลักษณะเด่น กลีบเลี้ยงของผลจะหุ้มห่อผลตลอดเวลา ใบค่อนข้างกลมมีปลายแหลมเล็กน้อย

นิเวศวิทยา ขึ้นในพื้นที่ที่มีความเค็มน้อยกว่า 10 % และดินค่อนข้างเหนียว น้ำท่วมถึง ออกดอก - ผลตลอดปี ประโยชน์ ผลมีรสออกเปรี้ยว สามารถนำมารับประทาน แก้กระหายน้ำได้ ยอดและใบแก่ตำให้ละเอียดผสมน้ำฉีดพ่น ป้องกันยุงลาย
หมายเหตุ ลำแพน มีใบรูปไข่กว้างปลายใบมนกลม กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผล ก้านชูอับเรณูสีขาว แตกต่างจากลำพู ใบรูปรีแกมขอบขนาน ก้านใบสีแดง กลีบเลี้ยงแฉกกว้างบานออก โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู ก้านชูอับเรณูโคนสีแดงปลายสีขาวชมพู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น