วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหงือกปลาหมอดอกม่วง


เหงือกปลาหมอดอกม่วง
ชื่อพฤกษศาสตร์: Acanthus ilicifolius L.
ชื่อพื้นเมือง: เหงือกปลาหมอดอกม่วง
ชื่อท้องถิ่น: เหงือกปลาหมอทะเล
วงศ์ ACANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พื้นล่างของป่าชายเลน เป็นไม้พุ่มลำต้นเลื้อย หรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูง 0.50 - 2 เมตร ราก พบทั้งรากค้ำจุน และรากหายใจซึ่งเกิดจากลำต้นที่เอนนอน ลำต้น ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นแข็งตั้งตรง กลวงตามแนวจุดศูนย์กลาง มีหนามอ่อนๆตามข้อ แต่เมื่ออายุมากมักจะเอนนอน ลำต้นแก่จะแตกกิ่งออกไป สีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มักมีหนามที่โคนก้านใบ 1 คู่ ใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 1 - 1.5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปหอก ขนาด 3 - 6.5 X 7 - 18 เซนติเมตร เรียวสอบลงมาทางฐานใบ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลม หรือ เป็นติ่งหนาม หรือ ขอบใบเว้าหยักเป็นลูกคลื่น มีหนามแหลมที่ปลายหยัก หนามแหลมนี้มักเกิดที่ปลายเส้นใบหลัก และมีหนามขนาดเล็กกว่าแทรก ปลายใบเป็นสามเหลี่ยมกว้างมีหนามที่ปลายใบ ใบสีเขียวอ่อนถึงเข้ม ดอก ออกเป็นช่อตั้งตรงที่ปลายกิ่งแบบช่อเชิงลด ยาว 10 - 15 เซนติเมตร ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ออกรอบแกนประมาณ 20 คู่ ใบประดับล่างสุดของแต่ละดอกยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ร่วงหลุดเร็ว ใบประดับย่อยสีเขียวด้านข้าง 2 ใบ รองรับดอกมีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร เด่นชัด และติดคงทน วงกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ สีเขียวอ่อนถึงสีน้ำตาลอมเขียว แยกเป็นกลีบล่าง และกลีบบน กลีบบนใหญ่กว่ากลีบล่าง วงกลีบดอกสมมาตรด้านข้าง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 - 4 เซนติเมตร กลีบในด้านบนสั้นมาก ความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยงประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างใหญ่แผ่กว้างและโค้งลง ปลายกลีบเว้าเป็น 3 พูตื้นๆยาว 2 - 2.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 4 อัน สีชมพู ดอกสีฟ้าหรือฟ้าอมม่วง หรือ สีน้ำเงินอ่อนหรือม่วงอ่อน มีสีเหลืองตรงกลางกลีบดอก เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือ วงกลีบ ตอนบนเป็นจะงอย ภายในมี 2 ห้อง มีเม็ดไข่มาก ก้านเกสรยาวพ้นระดับกลีบดอก ผล เป็นฝักมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ขนาด 0.5 - 0.7 X 1.5 - 2.0 เซนติเมตร ที่ปลายมียอดเกสรเพศเมียแห้งติดอยู่ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ด 4 เมล็ด

ลักษณะเด่น สีของต้นบริเวณยอดอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน และมีดอกเป็นสีม่วง

นิเวศวิทยา มักขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชายเลนเสื่อมโทรม มีน้ำทะเลท่วมถึง เป็นพื้นที่โล่ง เป็นดินร่วนเหนียว หรือ ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินเลน ด้านหลังป่าชายเลน ออกดอก - ผล ตลอดปี

ประโยชน์ ลำต้น ลำต้นสดตำให้ละเอียดฟอกฝีหรือแผลเรื้อรัง หรือนำมาต้มเอาน้ำอาบแก้เป็นผดและผื่นคัน ตำผสมน้ำรักษาวัณโรค ซูบผอม ทาแก้โรคเหน็บชา
ใบ ใบสดนำมาต้มกิน เป็นยาแก้ไข้หัวลม เบาหวาน ขับน้ำเหลืองเสีย พิษฝี แก้ฝีทรวง แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้ประดง และแก้ฝีทั้งภายนอกและภายใน
เมล็ด ใช้ต้มรวมกับเมล็ดมะเฟือง เปลือกอบเชย และน้ำตาลกรวด เป็น ยาแก้ไอ ขับเลือด หรือนำเมล็ดคั่วให้เกรียม ป่นละเอียด ชงกินกับน้ำเป็นยาแก้ฝี และขับโลหิตระดู
ราก แก้หืด แก้ไอ ขับเสมหะ หรือ รากสดต้มเอาน้ำดื่มแก้โรคงูสวัด
ต้นและราก
-ตำกับขิง คั้นน้ำดื่มแก้ไข้จับสั่น (ไข้หนาวสั่น) ใช้หยอดตารักษาตาเจ็บตาแดง
-ตำกับขมิ้นอ้อย พอกแก้พิษงู ทาแก้ฟกช้ำบวม
-ตำผสมพริกไทย น้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน เป็นยาอายุวัฒนะ

หมายเหตุ: วงกลีบดอกเป็นสีม่วง และใบประดับย่อยรองรับดอกเด่นชัดและติดคงทน ซึ่งต่างจากเหงือกปลาหมอดอกขาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น