วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ขลู่


ขลู่
ชื่อพฤกษศาสตร์: Pluchea indica ( L.) Less.
ชื่อพื้นเมือง: ขลู่
ชื่อท้องถิ่น: ขลู่น้ำเค็ม
วงศ์ ASTERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1 - 1.5 เมตร ขึ้นอยู่รวมเป็นกอ ราก ระบบรากแก้วมีรากฝอยแตกออกมารอบๆ ยึดลำต้น ลำต้น พุ่มตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก มีขนเล็กละเอียดปกคลุมตามกิ่ง ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือ รูปช้อนแกมขอบขนาน ขนาด 1 - 2 X 2 - 4 เซนติเมตร ฐานใบสอบเรียว ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย มีขนปกคลุมเล็กน้อย ปลายใบมน หรือ กลม ก้านใบสั้นมาก ใบมีกลิ่นหอมฉุน ดอก สมบูรณ์เพศ เป็นช่อแบบกระจุกแน่น ออกดอกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มคล้ายดอกสาบเสือ ก้านช่อดอกยาว 0.3 - 0.5 เซนติเมตร วงใบประดับรูประฆัง ฐานกลม ใบประดับเรียงตัวเป็นแถว กลีบดอกเป็นรูปเส้นด้าย ยาว ประมาณ 0.3 เซนติเมตร สีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผล เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอก ขนาด 0.1 X 0.4 เซนติเมตร ผลเกลี้ยง

ลักษณะเด่น ไม้พุ่ม เป็นกอ ขนเล็กปกคลุมตามกิ่ง ดอกช่อแบบกระจุกแน่น คล้ายดอกสาบเสือ

นิเวศวิทยา มักขึ้นริมน้ำตอนบนของป่าชายเลน เป็นกลุ่มๆ ออกดอก – ผล ตลอดปี

ประโยชน์ ต้น ต้มดื่มแก้โรคปวดเอวปวดหลัง ใช้บำรุงยา ขับปัสสาวะแก้ปัสสาวะพิการ แก้วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง แก้โรคริดสีดวงทวาร เป็นยาช่วยย่อย เปลือกลำต้น ต้มน้ำเอาไอรมทวารหนัก และรับประทานแก้โรคริดสีดวงทวาร ใช้สับตากแห้งมวนบุหรี่ สูบดมแก้โพรงจมูกอักเสบ ไซนัส ริดสีดวงจมูก ใบ ต้มน้ำดื่มแทนน้ำชาเพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว ตำพอกแผลแก้แผลอักเสบ และต้มน้ำอาบบำรุงประสาท ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นแผลแก้แผลอักเสบ ใบและราก แก้โรคบิด ขับเหงื่อ แก้แผลอักเสบ ราก สดตำพอกบริเวณแผล ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น