วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตะบูนดำ


ตะบูนดำ
ชื่อพฤกษศาสตร์: Xylocarpus moluccensis
(Lam.) M.Roem.
ชื่อพื้นเมือง: ตะบูนดำ
ชื่อท้องถิ่น: ตะบัน
วงศ์ MELIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10 - 15 เมตร ไม้ผลัดใบ ราก ระบบรากแก้ว หยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายกรวยคว่ำ กลม หรือ แบน ปลายมน ยาว 20 - 40 เซนติเมตร โผล่ขึ้นจากผิวดินรอบโคนต้น ลำต้น เปลาตรง เนื้อไม้แข็ง โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกขรุขระแตกเป็นร่องตามยาว ต้นแก่เปลือกสามารถลอกเป็นแถบแคบๆ เปลือกหนาสีน้ำตาลเข้ม หรือ แดงดำ เนื้อไม้สีน้ำตาล ใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายใบคู่ ไม่มีใบยอด เรียงสลับ ใบย่อย 1 - 3 คู่ เรียงตรงข้าม แผ่นใบรี รูปใบพาย หรือ รูปขอบขนานแกมรี ขนาด 2 - 4 X 5 - 7 เซนติเมตร โคนใบกลมมน ปลายใบมน ฐานใบแหลม ผิวใบเป็นมัน สีเขียวเข้ม และเปลี่ยนเป็นสีส้มอมเหลืองทั้งต้นก่อนร่วง ดอก ออกตามง่ามใบ แบบช่อแยกแขนง ช่อดอกยาว 7 - 17 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1 - 1.5 เซนติเมตร กลีบดอก 4 กลีบไม่ติดกัน รูปขอบขนาน ยาว 0.4 - 0.8 เซนติเมตร สีขาวครีม เกสรเพศผู้ 8 อัน กลิ่นหอมเวลาเย็นถึงค่ำ ผล ค่อนข้างกลมผิวเรียบมีร่องเล็กน้อย สีเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 - 6 เซนติเมตร แต่ละผลมี 4 พู มี 7 - 11 เมล็ด ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน กว้าง 4 - 6 เซนติเมตร

ลักษณะเด่น มีรากหายใจกลมบ้าง แบนบ้าง แล้วแต่สภาพของดินเลน โคนต้นมีพูพอน ต้นเล็ก สภาพลำต้นจะแตกต่างไปบ้างคือ เปลือกเรียบ สีออกดำแดง มีร่องสีขาวเป็นทางยาวตามลำต้น และเป็นไม้ผลัดใบชนิดหนึ่งของป่าชายเลน ( ผลัดใบช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. )

นิเวศวิทยา ขึ้นกระจายในบริเวณที่เป็นดินเลนค่อนข้างแข็ง ออกดอกพร้อมๆกับแตกใบใหม่ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ผลแก่ประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม
ประโยชน์
เปลือกไม้มีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติใน ช่องท้อง ใช้เป็นยาลดไข้ เปลือกและผลนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างทำความสะอาดบาดแผลได้ดี หรือต้มน้ำดื่มรักษาแผลภายใน ต้มแล้วตำให้ละเอียด พอกแผลสด แผลบวม พกช้ำ เป็นหนอง
ผลต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย บิด อหิวาต์ ผลแห้งตากแห้งเผาไฟร่วมกับเห็ดพังกาและน้ำมันมะพร้าว ทาแก้มะเร็งผิวหนัง เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง
เนื้อไม้มีสีและลวดลายสวยงาม ใช้ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้างได้ เปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนังสำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็น สีน้ำตาล ทำดินสอ

หมายเหตุ ตะบูนดำ ไม้ผลัดใบ รากหายใจรูปกรวยคว่ำ ปลายใบมนหนาเป็นมัน ผลค่อนข้างกลมมีร่องสีเขียว ส่วนตะบูนขาว ไม่ผลัดใบ รากหายใจแบนคล้ายแผ่นกระดาน ผลสีน้ำตาลแดงคล้ายผลทับทิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น