วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โกงกางใบเล็ก


โกงกางใบเล็ก
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhizophora apiculata Blume
ชื่อพื้นเมือง: โกงกางใบเล็ก
ชื่อท้องถิ่น: โกงกาง
วงศ์ RHIZOPHORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง - ขนาดใหญ่ สูง 8 - 15 เมตร ราก ระบบรากแก้ว บริเวณโคนลำต้น มีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น 1 - 3 เมตร รากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุนลำต้น แตกแขนงระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ มีหนึ่งหรือสองราก ที่ทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง ลำต้น ตั้งตรงเนื้อไม้แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 15 - 30 เซนติเมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆเปลือกสีเทาคล้ำหรือเทาอมชมพู แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวทั่วไป และอาจมีร่องสั้นๆแตกตามขวางคั่นระหว่างร่องยาวอย่างไม่เป็นระเบียบ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทางตั้งฉากใบคู่ล่างๆจะร่วงไปเหลืออยู่ 2 - 4 คู่ เป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรี กว้าง 4 - 8 เซนติเมตร ยาว 7 - 18 เซนติเมตร ปลายแหลมเรียวเล็กน้อย โคนใบรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีแดงอมชมพู เส้นแขนงใบปรากฏรางๆ แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 1.5 - 3.5 เซนติเมตร ก้านใบและหูใบมักมีสีแดงเรื่อๆ ท้องใบเป็นสีเขียวอมดำ ปลายใบเป็นติ่ง มองแต่ไกลเป็นสีดำขนาดใบเล็กกว่าโกงกางใบใหญ่ ดอก สมบูรณ์เพศ ช่อดอกอยู่ใต้เรือนใบ ช่อดอกสั้นมาก ออกดอกช่อละคู่ตามง่ามใบ ก้านช่อดอกสั้นกว่าก้านใบ ยาวประมาณ 0.6 - 2 เซนติเมตร ตรงปลายก้านช่อมีดอกที่ไม่มีก้านดอกย่อย หรือมีก้านสั้น 1 คู่ ดอกตูมรูปไข่ ยาว 1.2 - 1.6 เซนติเมตร ใบประดับที่ฐานดอกติดกันคล้ายรูปถ้วย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบหนา ปลายแหลมต่อลงมาจนโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่ายรูปใบหอก ขนาดกว้าง 1 - 2 มิลลิเมตร ยาว 0.7 - 1.2 เซนติเมตร สีเหลืองอมเขียวหรือเหลืองอ่อน ขอบกลีบไม่มีขน เกสรเพศผู้ 12 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่ปรากฏชัด ผล ผลรูปแพร์กลับ หรือ คล้ายรูปไข่กลับยาว 2 - 3 เซนติเมตร ผิวค่อนข้างขรุขระ สีน้ำตาลคล้ำ เมล็ดงอกได้ในขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียวโค้งเล็กน้อย ยาว 20 - 40 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 - 1.2 เซนติเมตร ขนาดโตขึ้นที่ส่วนปลาย ผิวเป็นมัน เขียวหรือเขียวอมม่วง ค่อนข้างเรียบหรือมีตุ่มขรุขระกระจัดกระจาย เมื่อแก่เต็มที่ฝักจะหลุดเองได้
ลักษณะเด่น ดอกมีก้านดอกสั้นออกช่อละคู่ รากมีหนึ่งหรือสองรากทีทำมุมตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน ใบมีขนาดเล็กและท้องใบมีสีเขียวเข้ม ลำต้นใต้ใบเลี้ยงโค้ง เปลือกเทาอมชมพู ก้านใบสีแดงอ่อนจนถึงกึ่งกลางเส้นใบ

นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป ริมแม่น้ำ ชายคลอง ในบริเวณที่มีดินเลนค่อนข้างอ่อน ลึกและมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอตลอดเวลา มักขึ้นเป็นหมู่อาจมีโกงกางใบใหญ่ขึ้นปะปนอยู่บ้าง ออกดอกในราวเดือนกันยายน - มกราคม

ประโยชน์
เปลือกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมาน แก้ท้องร่วง คลื่นเหียน อาเจียน แก้บิดเรื้อรัง หรือตำให้ละเอียดพอกห้ามเลือดบาดแผลสดได้ดี ใบอ่อนนำมาบด หรือ เคี้ยวให้ละเอียดพอกแผลสดห้ามเลือดและป้องกันเชื้อโรคได้
ลำต้นใช้ก่อสร้างเผาถ่าน ฝักทำไวน์ เปลือกสกัดแทนนิน สีจากเปลือกใช้ย้อม แห อวน เชือก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น