วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ช้าเลือด


ช้าเลือด
ชื่อพฤกษศาสตร์: Premna obtusifolia R.Br.
ชื่อพื้นเมือง: ช้าเลือด
ชื่อท้องถิ่น: สามปะงา
วงศ์ VERBENACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูง 1 - 4 เมตร ราก ระบบรากแก้ว หยั่งยึดดิน ลำต้น แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อนในระยะแรกๆ มีขนประปราย และจะหลุดร่วงไปเมื่อกิ่งแก่ขึ้น ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ สลับทิศทางกัน แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรีถึงรีกว้าง ขนาด 4 - 9 X 6 - 13 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ฐานใบมน หรือ ค่อนข้างสอบแคบ และมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ท้องใบสีจางมีต่อมหลายต่อม มักมีเส้นใบ 3 เส้น จากจุดโคนใบเส้นใบ 2 - 3 คู่ เห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ก้านใบ ยาว 1.5 - 4 เซนติเมตร มีขนนุ่ม เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นเหม็น ดอก สมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แบบช่อเชิงหลั่น ด้านบนดอกเสมอกัน ยาว 6 - 15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม หรือ เกือบเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาว 3 - 6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก ยาว 0.2 - 0.4 เซนติเมตร สีขาวอมเขียว ก้านดอกย่อยสั้นมาก กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ที่ขอบแยกเป็นจักเล็กๆ 4 แฉก มีขนประปรายตามผิวด้านนอก กลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายผายกว้างออก มีขนตามผิวด้านใน เกสรเพศผู้ 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ ติดอยู่ใกล้ๆปากหลอดด้านใน เกสรเพศเมียรังไข่เหนือวงกลีบ ผล เล็กกลม เมื่อสุกสีดำ ภายในมีเมล็ดแข็งหนึ่งเมล็ด

ลักษณะเด่น ใบเมื่อจับใบขยี้แล้วดมกลิ่นจะเหม็นมาก

นิเวศวิทยา ขึ้นตามที่โล่งและชายฝั่งทะเลทั่วๆไป

ประโยชน์ ใบต้มแก้เม็ดผดผื่นคัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น