วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จิกทะเล


จิกทะเล
ชื่อพฤกษศาสตร์: Barringtonia asiatica (L.) Kurz
ชื่อพื้นเมือง: จิกทะเล
ชื่อท้องถิ่น: จิกทะเล
วงศ์ LECYTHIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8 - 15 เมตร ราก ระบบรากแก้ว ไม่พบทั้งรากหายใจและ รากค้ำจุน ลำต้น ตั้งตรง ไม้เนื้อแข็ง แตกกิ่งระดับต่ำ เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกหยาบสีเทาเข้ม ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง หนาแน่นที่ ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ ขนาด 10 - 25 X 25 - 40 เซนติเมตร ฐานใบแหลม หรือ รูปติ่งหู ปลายใบกลม หรือแหลมกว้าง แผ่นใบนุ่มก้านใบอ้วนสั้น ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ใบเกลี้ยงทั้งหน้าและหลังใบ ดอก แบบช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อดอกสั้น ตั้งตรง ดอกใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 - 10 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่ไม่มีก้าน ก้านดอกย่อยยาว 4 - 5 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงเปิดออกเป็นสองแฉก ขนาดไม่เท่ากัน ดอกตูมมีสีขาวคล้ายดอกยี่หุบ กลีบดอก 4 กลีบ สีขาวไม่ติดกันรูปรีโค้งออก เกสรเพศผู้จำนวนมากสีแดงและขาว เกสรเพศเมียรังไข่ใต้วงกลีบ ห้องในรังไข่ตั้งแต่ 1 ห้อง มีเม็ดไข่มาก บานตอนกลางคืน โรยตอนกลางวัน ผล มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร รูปปิระมิด - สี่เหลี่ยม เห็นเป็นเหลี่ยมชัดเจน ปลายมนป้าน เปลือกเป็นเส้นใย หนาคล้ายเปลือกมะพร้าวลอยน้ำได้ ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่สีน้ำตาล ผลแก่ไม่แตก มี 1 เมล็ด

ลักษณะเด่น เมื่อเป็นดอกตูมสีขาวคล้ายดอกยี่หุบ เมื่อบานจะเห็นเกสรด้านในชัดเจน ผลเป็นเหลี่ยม คล้ายลูกดิ่ง ปลายแหลมเล็กน้อย

นิเวศวิทยา เป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ริมชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทราย, โขดหิน หรือ ที่มีดินเลนและขึ้นได้ดีในที่มีดินเลนแข็ง ออกดอก - ผลระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน

ประโยชน์ เปลือกต้มทำเป็นยาทาภายนอก แก้ปวดข้อ รากฝนผสมกับน้ำมะนาว ใช้ปิดปากแผลที่ถูกงูกัด แก้พิษงู ผลชงน้ำดื่ม แก้ไอ แก้หืด แก้ท้องเสีย เมล็ดทุบให้แตก ชงน้ำดื่มแก้จุกเสียด บีบให้น้ำมัน ใช้เป็นเชื้อไฟให้ความสว่าง เปลือกของเมล็ด ทุบให้แตกตีกับน้ำใส่บ่อใช้เบื่อปลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น