วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตะบูนขาว


ตะบูนขาว
ชื่อพฤกษศาสตร์: Xylocarpus granatum Koenig
ชื่อพื้นเมือง: ตะบูนขาว
ชื่อท้องถิ่น: กะบูน
วงศ์ MELIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง - ขนาดใหญ่ สูง 8 - 15 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ราก ระบบรากแก้ว หยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจ หรือ รากค้ำจุน ลักษณะแบนคล้ายแผ่นกระดานบ้าง กลมบ้าง ทอดตัวในแนวรัศมีรอบลำต้น ลำต้น ลำต้นสั้น ตรง เนื้อไม้แข็ง แตกกิ่งใกล้โคนต้น มีพูพอนแผ่ออกคดเคี้ยว ต่อเนื่องกับรากหายใจ เปลือกเรียบบาง สีเหลืองแกมเขียวอ่อน หรือ สีน้ำตาลอ่อนมีสีขาวปะปนลักษณะคล้ายเปลือกต้นฝรั่ง หรือ ต้นตะแบก เปลือกหลุดออกเป็นแผ่นรูปทรงไม่แน่นอน ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายใบคู่ หรือ รูปใบพายปลายมน ชั้นเดียว ไม่มีใบยอด เรียงสลับ ใบย่อยมีก้านเห็นชัดไม่เบี้ยวมี 1 - 2 คู่ เรียงตรงข้าม หรือ เยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ขนาด 2 - 5 X 7 - 14 เซนติเมตร แผ่นใบสมมาตรกัน ปลายใบมักจะทู่ หรือ กลม ฐานใบรูปลิ่ม ใบหนามัน ดอก ไม่สมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ตามปลายกิ่ง ช่อดอกแบบ ช่อแยกแขนง ยาว 3 - 6 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 8 - 20 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 - 1.2 เซนติเมตร ก้านดอกย่อย ยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร กลีบดอก 4 กลีบ ไม่ติดกัน มีสีขาวครีม เกสรเพศผู้ 8 อัน ดอกมีกลิ่นหอมเย็นเวลาบ่ายถึงกลางคืน ผล ลักษณะกลมแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 - 15 เซนติเมตร แบ่งเป็น 4 พู เท่าๆกัน แต่ละผล มี 4 - 17 เมล็ด ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน กว้าง 6 - 10 เซนติเมตร ผลแก่ หรือ สุกสีน้ำตาลแดงคล้ายผลทับทิม หรือ ผลส้ม

ลักษณะเด่น ลำต้น ผล และราก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผลกลมคล้ายผลทับทิม เปลือกเรียบมีสีน้ำตาล

นิเวศวิทยา มักขึ้นปะปนกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนบางชนิด เช่น พังกาหัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ตาตุ่มทะเล และโกงกางใบเล็ก ขึ้นได้ดีในน้ำกร่อย ดินเลนแข็ง น้ำท่วมถึงเล็กน้อย สภาพดินเป็นกรด หรือดินโคลนปนทราย พบบ้างเล็กน้อยในบริเวณน้ำจืด ออกดอก - ผลตลอดปี

ประโยชน์
เปลือกไม้จะมีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติใน ช่องท้อง ใช้เป็นยาลดไข้ รักษาแผลภายใน หรือ ต้มตำให้ละเอียด พอกแผลสดเป็นหนอง แผลบวม ฟอกช้ำ
เปลือก และผลนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างทำความสะอาดบาดแผลได้ดี
ผล นำไปต้มใช้ดื่มแก้ท้องเสีย ป่วงลม หรือ ตากแห้งแล้วเผาไฟ ผสมเห็ดพังกาเผากับน้ำมะพร้าว เป็นยาทาแก้มะเร็งผิวหนัง หรือ ผสมเปลือกพังกา จะทำให้แผลมะเร็งยุบตัวเร็ว
เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง
เปลือก หรือ เมล็ด 1 - 2 เมล็ด ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ใช้ฝาดสมานแก้ท้องเสีย แก้บิด
เนื้อไม้ตะบูนขาวมีสีและลวดลายสวยงาม ใช้ตกแต่งทำเฟอร์นิเจอร์ได้ดี
เปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนัง สำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็นสีน้ำตาล ทำดินสอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น