วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ช้าเลือด


ช้าเลือด
ชื่อพฤกษศาสตร์: Premna obtusifolia R.Br.
ชื่อพื้นเมือง: ช้าเลือด
ชื่อท้องถิ่น: สามปะงา
วงศ์ VERBENACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูง 1 - 4 เมตร ราก ระบบรากแก้ว หยั่งยึดดิน ลำต้น แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อนในระยะแรกๆ มีขนประปราย และจะหลุดร่วงไปเมื่อกิ่งแก่ขึ้น ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ สลับทิศทางกัน แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรีถึงรีกว้าง ขนาด 4 - 9 X 6 - 13 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ฐานใบมน หรือ ค่อนข้างสอบแคบ และมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ท้องใบสีจางมีต่อมหลายต่อม มักมีเส้นใบ 3 เส้น จากจุดโคนใบเส้นใบ 2 - 3 คู่ เห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ก้านใบ ยาว 1.5 - 4 เซนติเมตร มีขนนุ่ม เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นเหม็น ดอก สมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แบบช่อเชิงหลั่น ด้านบนดอกเสมอกัน ยาว 6 - 15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม หรือ เกือบเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาว 3 - 6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก ยาว 0.2 - 0.4 เซนติเมตร สีขาวอมเขียว ก้านดอกย่อยสั้นมาก กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ที่ขอบแยกเป็นจักเล็กๆ 4 แฉก มีขนประปรายตามผิวด้านนอก กลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายผายกว้างออก มีขนตามผิวด้านใน เกสรเพศผู้ 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ ติดอยู่ใกล้ๆปากหลอดด้านใน เกสรเพศเมียรังไข่เหนือวงกลีบ ผล เล็กกลม เมื่อสุกสีดำ ภายในมีเมล็ดแข็งหนึ่งเมล็ด

ลักษณะเด่น ใบเมื่อจับใบขยี้แล้วดมกลิ่นจะเหม็นมาก

นิเวศวิทยา ขึ้นตามที่โล่งและชายฝั่งทะเลทั่วๆไป

ประโยชน์ ใบต้มแก้เม็ดผดผื่นคัน

สำมะง่า


สำมะง่า
ชื่อพฤกษศาสตร์: Clerodendrum inerme (L.) Gaertneer
ชื่อพื้นเมือง: สำมะง่า
ชื่อท้องถิ่น: สำมะงา
วงศ์ VERBENACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 2 - 3 เมตร ราก ระบบรากแก้ว ลำต้น ทอดนอน แผ่กระจัดกระจาย มีขนนุ่มปกคลุมตามส่วนอ่อนๆทั้งหมด ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปหอก หรือ รูปรี ขนาด 1.5 - 4 X 3 - 8 เซนติเมตร ฐานใบแหลม ปลายใบแหลมหรือทู่ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง หรือ อาจมีขนประปราย ทางด้านท้องใบ เส้นใบ 6 - 8 คู่ ปลายเส้นเชื่อมกับเส้นถัดไป ก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร มีขนนุ่ม ดอก สมบูรณ์เพศ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุก มี 3 ดอก ช่อดอกยาว 4 - 8 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 2 - 5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยงรูประฆังยาว 0.3 - 0.4 เซนติเมตร ปลายเป็นแฉกตื้นๆ 5 แฉก หลอดกลีบดอกติดกันเป็นหลอดเล็กๆยาว 2 - 3 เซนติเมตร สีขาวอมชมพู กลีบดอก 5 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 เซนติเมตร สีขาว เกสรเพศผู้ มี 4 อัน อยู่เหนือหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีแดงอมม่วง ปลายเกสรและปลายหลอดท่อรังไข่ ยาวยื่นออกมาพ้นปากหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ผล กลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.2 - 1.8 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะมีร่องตามยาว 4 ร่อง ผิวเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยง ติดอยู่ที่ขั้วผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีออกดำ เมล็ดแข็งมาก มี 1 - 4 เมล็ด

ลักษณะเด่น ดอกสีม่วงเกสรเพศผู้ยาวพ้นออกมา ปากหลอดกลีบดอก และผลมีลักษณะคล้าย รูปไข่

นิเวศวิทยา ส่วนมากขึ้นบริเวณที่ชื้นแฉะและตอนบนของป่าชายเลน ออกดอก - ผลเกือบตลอดปี

ประโยชน์ ใบสดต้มกับน้ำทำความสะอาดชะล้างบาดแผล ฆ่าพยาธิโรคผิวหนัง ใบแห้งบดเป็นผงโรยบริเวณที่เป็นแผลแก้เชื้อ ใบสดผสมเหล้าองุ่นต้มพออุ่นๆใช้ทา แก้รอยฟกช้ำหรือบวม รากแห้งต้มกับน้ำดื่มมีรสขม กลิ่นเหม็น แก้ไข้หวัด ตับอักเสบ ตับโตม้ามโตและแผลบวมจากการหกล้ม หรือถูกกระแทกได้

ลำแพน


ลำแพน
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sonneratia ovata Backer
ชื่อพื้นเมือง: ลำแพน
ชื่อท้องถิ่น: ลำแพนทะเล
วงศ์ SONNERATIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย ไม้ต้นขนาดเล็ก - ขนาดกลาง สูง 4 - 12 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายหมุด ยาว 15 - 30 เซนติเมตร เหนือผิวดิน ลำต้น ตั้งตรง มีเนื้อไม้ กิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามแผ่นใบรูปไข่กว้าง หรือ รูปเกือบกลม ขนาด 3 - 8 X 4 - 9 เซนติเมตร โคนใบไม่สอบแคบมักกลม ฐานใบกลม สีเขียวเข้ม ปลายใบกลมกว้าง ก้านใบยาว 0.3 - 1.5 เซนติเมตร ต้นที่มีอายุมาก ใบมักจะบิดเบี้ยวไม่สมมาตร ดอก สมบูรณ์เพศ ออกเดี่ยวๆ หรือ เป็นช่อกระจุก ช่อละ 3 ดอก ก้านดอกย่อยยาว1 - 2 เซนติเมตร บางครั้งไม่มีก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 2 - 3 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันเด่นชัด กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวกว่าหลอดเล็กน้อย สีเขียวและสีชมพูเรื่อๆที่โคนกลีบด้านใน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีขาว เกสรเพศเมีย ก้านเกสรยาว มีรังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 4 ห้องติดกัน มีเม็ดไข่มาก ผล เป็นผลมีเนื้อและมีหลายเมล็ด ผลกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ขนาด 3 - 4.5 X 2.5 - 3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผล เป็นรูปถ้วย หรือ รูปลูกข่าง มีสัน กลีบเลี้ยงงอหุ้มติดผล ท่อกลีบเลี้ยงยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร แฉกชี้ขึ้น
ลักษณะเด่น กลีบเลี้ยงของผลจะหุ้มห่อผลตลอดเวลา ใบค่อนข้างกลมมีปลายแหลมเล็กน้อย

นิเวศวิทยา ขึ้นในพื้นที่ที่มีความเค็มน้อยกว่า 10 % และดินค่อนข้างเหนียว น้ำท่วมถึง ออกดอก - ผลตลอดปี ประโยชน์ ผลมีรสออกเปรี้ยว สามารถนำมารับประทาน แก้กระหายน้ำได้ ยอดและใบแก่ตำให้ละเอียดผสมน้ำฉีดพ่น ป้องกันยุงลาย
หมายเหตุ ลำแพน มีใบรูปไข่กว้างปลายใบมนกลม กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผล ก้านชูอับเรณูสีขาว แตกต่างจากลำพู ใบรูปรีแกมขอบขนาน ก้านใบสีแดง กลีบเลี้ยงแฉกกว้างบานออก โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู ก้านชูอับเรณูโคนสีแดงปลายสีขาวชมพู

ลำพู


ลำพู
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sonneratia caseolaris (L.) Engler
ชื่อพื้นเมือง: ลำพู
ชื่อท้องถิ่น: ลำพู
วงศ์ SONNERATIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย ไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 8 - 20 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายกรวยคว่ำ ยาว 70 เซนติเมตร หรือยาวกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนราก 4 - 5 เซนติเมตร เรียวแหลมไปทางปลายราก ลำต้น ต้นตรงมีเนื้อไม้ ไม่ผลัดใบ กิ่งห้อยย้อยลง ต้นที่อายุน้อยเปลือกเรียบ แต่เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะหยาบ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ด ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน ขนาด 2 - 5 X 4 - 13 เซนติเมตร ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมทู่ หรือ เรียวแหลมสั้น หรือ มนเป็นติ่งสั้น เส้นใบไม่เด่นชัด ก้านใบค่อนข้างแบน ยาว 0.2 - 0.4 เซนติเมตร สีแดงเรื่อๆ ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกเดี่ยว ที่ปลายกิ่ง วงกลีบเลี้ยงเป็นหลอดตื้นๆรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกลึก 8 แฉก รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม แฉกยาวกว่าหลอด โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู กลีบดอกรูปแถบ หรือ ขอบขนานแคบ ขนาด 0.1 - 0.2 X 1.5 - 2.5 เซนติเมตร สีแดงเข้ม อยู่ระหว่างกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร โคนก้านสีแดงปลายสีขาวชมพู ร่วงง่ายภายในวันเดียว เกสรเพศเมีย รังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 4 ห้องติดกัน ก้านเกสรยาว มีเม็ดไข่มาก ผล เป็นผลมีเนื้อและมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อผล ผลรูปกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง 4.5 - 7 X 2.5 - 3.5 เซนติเมตร สีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผลแบน ไม่มีสันแผ่แฉกกว้าง บานออกไม่หุ้มฐานของผล

ลักษณะเด่น ฐานกลีบดอกด้านในเป็นวงสีแดงเลือดนก มีจุดประขาวอยู่ในวงสีแดง โคนใบ หรือบริเวณกิ่งและก้านตรง ยอดอ่อนเป็นสีชมพู

นิเวศวิทยา ขึ้นในเขตป่าชายเลนที่น้ำกร่อยจนถึงน้ำค่อนข้างจืด หรือ มีช่วงระยะเวลาที่ระดับความเค็มของน้ำน้อยกว่า 10 % เป็นเวลานาน มักขึ้นเป็นกลุ่มตามริมชายฝั่งแม่น้ำที่เป็นดินเลนเหนียวและลึก ออกดอกเดือนสิงหาคม - ธันวาคม และออกผลเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์

ประโยชน์ ผลสุกมีกลิ่นหอมและนิ่มรับประทานได้ รากหายใจ นำไปทำจุกไม้ก๊อกปิดขวด ทำเป็นทุ่นลอยในการประมง

มะแว้งเครือ


มะแว้งเครือ
ชื่อพฤกษศาสตร์: Solanum trilobatum L.
ชื่อพื้นเมือง: มะแว้งเครือ
ชื่อท้องถิ่น: มะแว้ง
วงศ์ SOLANACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง 1 - 2 เมตร ราก ระบบรากแก้ว ยึดลำต้น ลำต้น เล็ก สีเขียว มีหนามแหลมคมตลอดลำต้น ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่ ขนาด 3 - 5 X 4 - 6 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าตื้นๆ 2 - 5 หยัก ผิวใบมีหนามเล็กๆตามเส้นกลางใบ สีเขียวด้านหลังใบ สีเข้มกว่าด้านท้องใบ ดอก เป็นช่อกระจุก ตามซอกใบ ช่อละ 2 - 6 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2 - 4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก สีม่วง เกสรเพศผู้ ติดบนหลอดกลีบดอก 5 อัน สีเหลืองสด เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ มีเม็ดไข่มาก ยอดเกสรเพศเมีย ยื่นยาวกว่า เกสรเพศผู้เล็กน้อย ผล ผลอ่อนสีเขียวขนาดเล็กกว่าผลมะเขือพวง มีลาย ผลแก่ หรือ สุกเป็นสีแดงสด ข้างในมีเมล็ดแบนๆจำนวนมาก ผลมีรสขม

ลักษณะเด่น กลีบดอกสีม่วง ผลสุกเป็นสีแดงสด

นิเวศวิทยา พบขึ้นตามที่ทิ้งร้างกลางแจ้ง ริมทางเรือกสวน การเกษตรทั่วไป ขึ้นได้ทั้งที่แห้งและ ที่เป็นดินชื้นแฉะหรือดินที่มีความเค็ม
ประโยชน์ รากใช้เป็นยาแก้ไอ ขับลม ขับปัสสาวะ ผลใช้ทั้งผลดิบและผลสุกเป็นยาขมเจริญอาหาร ขับเสมหะแก้ไอ ลดน้ำตาลในเส้นเลือด และเป็นน้ำกระสาย ยากวาด เป็นต้น

พุงดอ


พุงดอ
ชื่อพฤกษศาสตร์: Azima sarmentosa (Blume) Benth.
ชื่อพื้นเมือง : พุงดอ
ชื่อท้องถิ่น : หนามพุงดอ
วงศ์ SALVADORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้พุ่ม สูง 1.5 – 2.5 เมตร ราก ระบบรากแก้ว ลำต้น แตกกิ่งก้านมากห้อยลู่ลงปลายกิ่งสัมผัสพื้นดิน มีหนามแหลมตามซอกใบ 2 อัน ยาว 0.5 - 1 เซนติเมตร ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือ รูปไข่กลับ กว้าง 2 - 4 เซนติเมตร ยาว 4 - 8 เซนติเมตร เนื้อใบหนา สีเขียวสดและเป็นมัน ดอก ดอกออกเป็นช่อ อยู่ที่ปลายยอด ซอกใบ กลีบเลี้ยงรูประฆัง กลีบดอก 4 กลีบ สีเหลือง อับละอองเรณู 4 อัน ผล ผลมีเมล็ดแข็ง เมล็ดมี 1 เมล็ ใน 1 ผล เป็นรูปทรงกลม แข็ง

ลักษณะเด่น ใบรูปไข่กลับ มีหนามตามข้อใบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน

นิเวศวิทยา พบตามริมน้ำ ที่ชื้นแฉะ แนวป่าชายทะเลทั่วไป

ประโยชน์ รากแก้บวม แก้ลม แก้พิษฝีตานซาง ดับพิษทั่วไป ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้ ร้อนใน แก้องคชาติที่บวมร้อนและอักเสบ ทำให้ยุบบวม แก้ลมตานซาง ใช้ฝนกับสุราทาแก้คางทูมเปลือกและต้น แก้พิษประดงผื่นคัน แก้น้ำเหลืองเสีย หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ

โกงกางใบใหญ่


โกงกางใบใหญ่
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhizophora mucronata Poir.
ชื่อพื้นเมือง: โกงกางใบใหญ่
ชื่อท้องถิ่น: โกงกางนอก
วงศ์ RHIZOPHORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 15 - 20 เมตร ราก ระบบรากแก้ว โคนต้นมี รากค้ำจุนหรือรากหายใจ ออกมาเหนือโคนต้น ยาว 2 - 7 เมตร เพื่อช่วยพยุงลำต้น รากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุน ลำต้น แตกแขนงระเกะระกะ รากแตกจากโคนต้นและค่อยๆโค้งจรดดินไม่หักเป็นมุมฉากดังเช่นรากค้ำจุนของโกงกางใบเล็ก ลำต้น ตั้งตรง ไม้เนื้อแข็ง เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบๆเปลือกหยาบ แตกเป็นร่องตื้นๆตามยาวและตามขวาง เป็นตารางทั่วไป เปลือกสีเทาคล้ำถึงดำ ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างๆ จะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง อวบใหญ่ ขนาด 5 - 13 X 8 - 24 เซนติเมตร ปลายมนหรือแหลม มีติ่งแหลมเล็กและแข็ง โคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีเขียว เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด แผ่นใบหนา มีจุดเล็กๆสีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว 2.5 - 6 เซนติเมตร สีเขียว หูใบสีเขียวอมเหลือง สีของหลังใบจะมีสีเขียวอ่อน ท้องใบเป็นสีเหลือง ลักษณะเด่นมาก เมื่อมองระยะไกล ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกช่อ ช่อดอกเกิดในกลุ่มเรือนใบ หรือ ออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่ หรือ ร่วงไปในเวลาต่อมา ก้านช่อดอกยาวกว่าก้านใบ ความยาว 3 - 7 เซนติเมตร แตกแขนงสั้นๆ มีดอกตั้งแต่ 2 - 12 ดอก ก้านดอกยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก โคนใบประดับติดกัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม ขนาด 5 - 7 X 1.2 - 1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่ายรูปใบหอก ยาว 0.6 - 1 เซนติเมตร สีขาว หรือ เหลืองอ่อน ขอบกลีบมีขนหนาแน่น มีเกสรเพศผู้ 8 อัน ผล คล้ายรูปไข่ ยาวแคบลงทางส่วนปลายผล เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 3 - 8 เซนติเมตร งอกเป็นฝักตั้งแต่อยู่บนต้น ผิวฝักหยาบ สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียว ค่อนข้างตรง ยาว 30 - 80 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 - 1.9 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไป

ลักษณะเด่น รากโค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมฉาก หลังใบสีเขียวอ่อน ท้องใบสีเหลือง ปลายใบเป็นติ่งแหลมเล็กและแข็งมาก ผิวเปลือกหยาบ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป เป็นกลุ่มเดียวล้วนๆ ชอบขึ้นในดินเลนค่อนข้างลึก บริเวณชายฝั่งแม่น้ำ หรือ ชายคลองด้านนอกที่มีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอเป็นเวลานาน หรือ ติดกับทะเลที่มีลักษณะดินเป็นสีดำและมีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า ออกดอกเดือนกันยายน - ตุลาคม ฝักแก่เดือนมีนาคม - สิงหาคม

ประโยชน์
ใบชงน้ำดื่มแก้ไข้ ใบอ่อนบดหรือเคี้ยวให้ละเอียด พอกแผลสด ห้ามเลือดและป้องกันเชื้อโรค เปลือกลำต้นต้มกับน้ำดื่ม ห้ามโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดเรื้อรัง บำบัดเบาหวาน แก้แผลฟกช้ำ บวม น้ำเหลืองเสีย หรือตำพอกห้ามเลือด และบาดแผลสด หรือเผาใส่แผลสด รากอ่อน กินเป็นยาบำรุงกำลัง ผลอ่อน เคี้ยวพ่นใส่แผล แก้พิษปลาดุกทะเล ปลากระเบนทะเล
เปลือกลำต้นไม้โกงกางเป็นแหล่งผลิตแทนนินที่สำคัญ ใช้ในการฟอกหนัง ฟอกย้อมและเพิ่มความแข็งแรงของเชือกและแห อวนในการทำประมง ใช้ในการผลิตกาวในอุตสาหกรรมแผ่นชิ้นไม้อัด
ลำต้นใช้เผาทำถ่านเป็นไม้เชื้อเพลิงคุณภาพดี ใช้ทำกับดักปลา ก่อสร้าง

หมายเหตุ โกงกางใบใหญ่ รากหายใจไม่หักเป็นมุมฉาก มีใบขนาดใหญ่ ก้านใบสีเขียวอมเหลือง ออกดอกตั้งแต่ 2 – 12 ดอก ช่อดอกยาว หูใบสีเขียวอมเหลือง ผลคล้ายรูปไข่ปลายขอด ซึ่งแตกต่างจากโกงกางใบเล็ก รากหายใจ 1 – 2 ราก ที่หักเป็นมุมฉากลงดิน ใบเล็กกว่า หูใบ ก้านใบมีสีแดงเรื่อๆ ออกดอกเป็นคู่ ก้านดอกสั้น ผลรูปแพร์กลับ